วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตะลุย East Cold Spring Trail

จะว่าไปแล้ว ผมจะถือว่า Cold Spring Trail เป็น "สวนหลังบ้าน"​ ของผมเลยก็ว่าได้เพราะว่าผมไปที่นี่บ่อยมาก เมื่อใดที่ผมต้องการหลอกล่อเพื่อนๆ หรือน้องๆ ให้หันมาสนใจกิจกรรมการเดินป่า ผมก็จะพาไปเริ่มต้นที่นี่ เมื่อใดที่มีเพื่อนต่างเมืองมาเที่ยว Santa Barbara ผมก็จะพาไปเดินใน trail นี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ
  1. คนที่มีเวลาไม่มาก หรือไม่อยากเดินนานมาก ก็สามารถเดินแค่ 15 นาทีจนถึง Kevin's bench มีที่นั่งร่มๆ ให้ทานข้าวทานขนม ชมสายธารน้ำจาก east fork และ west fork ไหลมาบรรจบกัน
  2. ผู้ที่มีเวลาพอสมควรและต้องการออกกำลังกายก็สามารถเดินไปตาม East Fork จนถึง first crossing (จุดข้ามน้ำจุดแรก) แล้วนั่งเอาเท้าแช่น้ำเย็นๆ ชมน้ำตกเล็กๆ ไหลลดหลั่นกันมาตามโขคหินได้
  3. ผู้ที่มีเวลามากๆ และต้องการออกกำลังกายหนักๆ สามารถเดินไต่ระดับ 1000 ฟุต จนถึงจุดชมวิว Montecito Outlook หรือจะไปจนถึงจุดสูงสุดที่ 3000 ฟุต บนถนน East Camino Cielo เลยก็ได้ (แต่.. เหนื่อยมาก)
  4. trail นี้มีทางแยกไปหลายทาง ทาง West Fork นั้นสามารถเดินไปชมธรรมชาติ ดอกไม้นานาพันธุ์ หรือถ้าจิตใจรักการปีนป่าย ก็สามารถตะลุยโขดหินสูงชันขึ้นไปจนถึงน้ำตก Tangerine Falls เลยก็ได้ (สวยมากๆ)
  5. ผู้ที่รักบทกวี หรือจิตใจอัดอั้นแบบโรแมนติก ชนิดที่อยากเขียนระบายความในใจทิ้งไว้ที่ยอดเขาไหนสักแห่ง เผื่อว่าใครบางคนจะผ่านมาอ่านเห็น ก็สามารถเร่ิมเดินจากด้านบนสุด (ขับรถขึ้นไปได้) แล้วไต่เขาออกนอกเส้นทางหลักไปยัง Montecito Peak บนนั้นจะมีหมุดสำรวจของ USGS และกล่องเหล็กสีเขียวแบบของทหาร ภายในมีสมุดบันทึกและปากกาไว้ให้เขียนอะไรก็ได้ บ้างก็แค่ลงชื่อเยี่ยมชม บ้างก็วาดรูปไว้สวยงาม บ้างก็เขียนเล่าประสบการณ์การปีนเขา บ้างก็สารภาพรักกับใครบางคนที่ไม่มีทางจะเดินผ่านมาทางนี้
  6. ผู้ที่ชอบการทำอาหารในป่า หรืออยากหาที่ picnic สวยๆ หรืออาจจะกางเต้นท์นอนค้างคืนก็ได้ สามารถเริ่มเดินจากข้างบน ลงไปทางทิศเหนือด้านหลังภูเขา (เรียกว่า ​north cold spring trail หรือ forbush trail) ลดระดับลงไป 1000 ฟุตก็จะถึง Forbush flat เป็นแคมป์กราวด์ที่เดินไปถึงได้ง่ายที่สุด (ไม่นับรวมแคมป์ที่ขับรถไปถึงได้ .. ซึ่งไม่น่าตื่นเต้น) แต่ขากลับก็ต้องปีนขึ้น เหนื่อยสักหน่อย
  7. ผู้ที่รักธรณีวิทยา สามารถเดินเลย Forbush flat ขึ้นเนินไปอีกสักนิดเพื่อชมก้อนหินที่มีฟอสซิลหอยโบราณมากมาย ไม่ต้องเข้าไปชมตามพิพิธภัณฑ์ไหนเพราะที่นี่มีวางให้เห็นกันข้างทางเลยทีเดียว นั่นแสดงว่าบริเวณนี้แม้จะสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งมากมายแต่ในอดีตเคยจมอยู่ใต้ทะเลมาก่อน!
  8. ผู้ที่รัก hot spring (น้ำพุร้อน) และมีอุตสาหะปานกลางถึงมาก สามาถเดินต่อไปจาก forbush flat อีก 4 ไมล์ ไปถึง Little Caliente Hot Spring ลงแช่ให้สบาย แต่คงแช่ได้ไม่นานก็ต้องเดินกลับเพราะเวลาใกล้หมด ขากลับก็เหนื่อยกันสักหน่อย
  9. นี่ยังไม่ได้พูดถึง Mono Campground, Cotam Camp, Blue Canyon, น้ำตก The Grotto, meadow (ทุ่งหญ้า) งดงามต่างๆ อีกมาก, ฯลฯ​ ที่นี่มีหลายสิ่งให้เลือกสรรกันจริงๆ
โม้อย่างเดียวคงแค่สนุกปากคนโม้ แต่คนฟังคงไม่สนุกด้วย .. ถ้าไม่มีภาพประกอบ 

วันนี้ขอเอาภาพมาโชว์เฉพาะส่วนที่เป็น East Fork Cold Spring Trail นั่นคือ ทางแยกฝั่งตะวันออกส่วนที่อยู่หน้าเขา (front country trail) ว่ามีอะไรน่าดูน่าชมบ้าง

ผมมีโอกาสได้ไปเดินใน trail นี้นับครั้งไม่ถ้วน (พูดไปอย่างนั้นแหละ จริงๆ ก็นับได้ถ้วน) ภาพที่จะนำมาเล่าเรื่องราวให้ฟังกันนี้ในคราวนี้ก็จะนำมาจากการเดินหลายๆ ครั้ง แต่มีอยู่เพียงครั้งหนึ่งที่ผมได้เดินจากข้างล่างสุดไปถึงข้างบนสุด  คือเมื่อปลายเดือน ธ.ค.​ 2552 เริ่มที่ความสูง 650 ฟุต จบที่ความสูง 3400 ฟุต คิดเป็นระดับความสูงที่ต้องไต่สุทธิ +2750 ฟุต (838 เมตร) ระยะทางไปกลับประมาณ 9 ไมล์ (14.4 กม.) โปรไฟล์ของการเดินหน้าตาเป็นแบบนี้


ผมตัดสินใจไปเดินในวันนั้นคนเดียวเพราะ

  1. ไม่มีใครยอมไปด้วย
  2. อยากจะทดสอบไต่ระดับประมาณ 3000 ฟุตด้วยตัวเองอีกครั้ง หลังจากที่ไม่กี่วันก่อนหน้านี้เพิ่งค้นตัวเองว่าสามารถทำอย่างนี้ได้หลังจากที่ไปเดินกับชาว Sierra Club ที่ San Ysidro Trail (วันนั้นคิดว่าผมคงต้องพักกลางทาง แต่ปรากฎว่าสามารถลากสังขารไปกับพวกคนอื่นเขาได้ รู้สึกภูมิใจมากแม้จะเดินช้ากว่าชาวบ้านก็ตาม)
  3. อยากจะทดสอบ trekking poles (ไม้คำ้ยัน) ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ อันละแค่ $10 เอง เพราะเมื่อวันโน้นเห็นชาว Sierra Club เขาชอบใช้กัน รู้สึกว่ามันเท่ดี และหวังว่ามันคงจะมีประโยชน์อยู่บ้าง
Cold Spring Trail นั้นแม้จะมีหลายแยก แต่มี trailhead ด้านล่างสุดอยู่ในจุดเดียวกันนั่นคือบนถนนอันคดเคี้ยว East Mountain Drive ของเมือง Montecito (เป็นส่วนหนึ่งของ Santa Barbara) เมื่อขับรถมาถึงจุดนี้จะรู้ทันทีว่าถึงแล้วเพราะว่าจะมีน้ำไหลท่วมถนน ซึ่งน้ำนั้นก็คือน้ำจาก Cold Spring Creek นั่นเอง ในอเมริกานี้เขาออกแบบทางข้ามน้ำกันแบบนี้ (ศัพท์เทคนิคเรียกว่า ford) นั่นคือ ถ้าไม่จำเป็นต้องสร้างสะพานเขาก็จะไม่สร้างสะพาน ให้น้ำไหลข้ามถนนไปเองซะเลย ในบางครั้งเขาก็จะสร้างท่อใหญ่ๆ ไว้ใต้ถนนด้วยเพื่อช่วยในการระบายน้ำ คนที่ขับรถผ่านไปมาก็ต้องระมัดระวังกันเอาเอง บางครั้งก็เป็นไปได้ว่าน้ำจะท่วมสูงจนกระทั่งรถเล็กผ่านไปไม่ได้

แม้ยังไม่ทันเริ่ม hike ก็ได้ยลธรรมชาติแล้ว
นี่คือหน้าตาของ ​trailhead บนถนน East Mountain Drive
การที่น้ำไหลท่วมถนนนั้นไม่ใช้อุบัติเหตุแต่เป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบ
(It's a feature, not a bug.)
บางครั้งถ้าจอดรถไว้ด้านหนึ่ง แต่ดันเดินออกมาจาก trail อีกด้านหนึ่ง
 ก็ต้องลุยน้ำข้ามฟากอย่างที่เห็นนี้ อูยยย เย็นเจี๊ยบ!
(ภาพถ่ายโดยแฟง, ธ.ค. 2553)

ที่จอดรถนั้นมีมากมาย บางครั้งในช่วงวันหยุดหรือเทศกาลอาจจะมีรถมากสักหน่อย แต่ผมก็หาที่จอดได้ทุกครั้ง บางครั้งก็อาจจะไกลหน่อย แต่ถ้ามาเดินป่า 8-9 ไมล์อย่างนี้คงไม่เกี่ยงที่จะเดินไปขึ้นรถไกลขึ้นสักเพียง 0.1 ไมล์

รถ Honda Civic 2001 คู่ชีพของผม ขับมาแล้วเกินแสนไมล์ (ไม่ได้โม้)
อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าจุดขายอย่างหนึ่งของ East Cold Spring Trail ก็คือ ผลตอบทานของการลงทุน(ลงแรง) ที่ได้ผลฉับพลันทันตา เพียงผมเดินเข้าไปไม่เท่าไหร่ก็จะได้พบทางเดินร่มรื่นด้วยเงาไม้ ทางเดินเข้าในขาแรกนี้มีสองทางให้เลือกนั่นคืออาจเดินทางด้านหุบเขา (valley side) หรือทางหน้าเขาหันหน้าเขาทะเล (ocean side) ก็ได้ สามภาพข้างล่างนี้ถ่ายมาจากด้านหน้าเขาในวันนี้เดินเข้าไปตอนช่วงเย็น

เพียงแค่เดินเข้ามา ยังไม่ทันที่ถนน E Mountain Dr จะพ้นขอบตาทางซ้าย ภาพที่ปรากฏตรงหน้าก็เป็นร่มเงาแมกไม้สวยงามอุดมสมบูรณ์ เชื้อเชิญให้เราสำรวจลึกเข้าไปเรื่อยๆ และผมก็หลงคล้อยตามคำเชิญเหล่านี้ได้ง่ายเสียด้วย

ต้นไม้ต้นนี้เหมือนชูสองนิ้ว Victory! สูัตายครับ! 

ทางเดินในช่วงต้นนี้ลาดขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีจุดไหนที่ชันเกินไป
ผู้ที่ชื่นชอบดอกไม้ ใบหญ้า ก็สามารถศึกษาธรรมชาติอันหลากหลายได้ สามภาพต่อไปนี้คือดอกไม้ที่ถ่ายมาจากทางเดินด้านหน้าเขา การถ่ายภาพดอกไม้ในที่แสงสว่างเพียงพอนั้นถ่ายให้สวยได้ง่ายโดยใช้เลนส์ 70-300mm ยืนถ่ายไกลๆ ดอกไม้จะสวยเด่นอยู่บนพื้นหลังที่ละล๊ายละลาย(ละลายละไหลไปกับเธอ) แต่ถ้าแสงน้อยผมก็ต้องใช้เลนส์ 18-55mm ถ่ายใกล้ๆ ผมมักจะใช้ aperture ประมาณ f/6.3 กลั้นหายใจแล้วถ่ายรัวมาหลายๆ ภาพเพื่อป้องกันมือสั่น (ในทางที่ถูกต้องควรจะใช้ขาตั้งกล้อง แต่ผมมักจะขี้เกียจติดตั้งขาตั้งกล้องเพียงเพื่อถ่ายดอกไม้ (แม้จะแบกขาไปด้วยก็ตาม)) ผมแทบจะไม่เคยใช้แฟลช ไม่ใช่เพราะเป็นพวกต่อต้านแฟลช แต่เพราะยังใช้ไม่เป็น+ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์+ไม่มีแรงแบก

ผมชอบแสงตัดเส้น (rim lighting) ของภาพนี้
มีดอกไม้ดอกอื่นที่ดูสวยกว่าดอกนี้แต่ว่าสภาพแสงของดอกนี้สวยที่สุด

ดอกไม้ไม่ทราบชื่อ
ผมเคยถ่ายดอกไม้มาเดี่ยวๆ อย่างนี้แล้วเอาไปถามนักพฤกษศาสตร์ให้ช่วยบอกชื่อ
ผมจำไม่ได้แล้วว่าคำตอบสำหรับดอกนี้คืออะไร
แต่จำคำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างหนึ่งได้ นั่นคือ
ถ้าช่างภาพต้องการทราบชื่อของดอกไม้ก็จงอย่าถ่ายมาแต่ดอก
ควรถ่ายใบ ถ่ายต้น ราก สภาพแวดล้อม ทั้งแบบ close-up และแบบภาพกว้างมาด้วย
จะทำให้เขาระบุชนิดได้ง่ายขึ้น

ใบเฟิร์น ถ่ายที่ 55mm, f/6.3
ผมมักจะถ่ายดอกไม้ใบหญ้าด้วย aperture-priority mode (ตัว A บน Nikon)
แล้วปรับ aperture ไปเรื่อยๆ หลายๆ แบบ
พอกลับบ้านมาดูภาพในจอคอมก็มักจะพบว่า f/6.3 เนี่ยะสวยสุด
ดูภาพจากทางหน้าเขาไปแล้ว มาดูทางด้านหุบเขาดูบ้าง ทางนี้เป็นทางหลักและเป็นทางที่ง่ายกว่าสำหรับผู้เร่ิมต้น เพียงเดินเข้าไปแค่ 5 นาที แล้วเหลียวหลังกลับมา ภาพที่ผมได้เห็นก็คือลำธารที่ไหลกระทบโขดหิน เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา สร้างเสียงดนตรีประกอบกับเสียงรองเท้าที่ก้าวเดินอย่างไพเราะเพราะพริ้งยิ่งกว่าเสียงเพลงใดๆ (ยกเว้นเพลงของโฟร์มด)

ภาพนี้ถ่ายอย่างไรก็ไม่สวยได้เท่าที่ตาเห็น
ถ้าท่านลองขยายภาพจะเห็นว่ามีรถจอดอยู่บนถนนด้านบนของภาพ
ผมตัดสินใจไม่ crop ถนนออกเพราะว่ามันบอกเรื่องราวได้อย่างมีพลัง:
"ชาว Santa Barbara นี้เขาโชคดีแค่ไหนที่สามารถ
สัมผัสธรรมชาติอันงดงามเช่นนี้ได้โดยการเดินออกจากถนนแค่นิดเดียวเอง"
คือเสียงตะโกนจากภาพนี้
ในเวลาเพียงแค่สิบห้านาทีของการเดินไป พักไป ถ่ายรูปไป ผมก็เดินมาถึงบริเวณที่ป้ายบอกทางเรียกว่า Kevin's Bench  จุดนี้เป็นจุดตัดระหว่างสองนครา East Fork (ทางขวา) และ ​West Fork (ทางซ้าย) จุดนี้มีโขดหินใหญ่ (boulders) หลายก้อนให้กระโดดเล่น หรือจะนั่งทานข้าว/นอนชมธรรมชาติ/นอนฟัง iPod ก็ย่อมได้ มีม้านั่งตัวหนึ่งที่มีผู้ใจบุญมาสร้างไว้เพื่อระลึกถึงคุณ Kevin บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า Kevin's Bench โดยม้านั่งตัวนี้หันหน้าเข้าไปที่น้ำตกเล็กๆ อันเป็นจุดที่ West Fork ไหลลงมาบรรจบกับ East Fork พอดี ใครเอาอะไรมานั่งทานที่นี่รับรองว่าต้องอร่อยแน่นอน (ถ้าไม่อร่อย ก็ไปโทษ Kevin นะครับ)

น้ำจาก West Fork Cold Spring รินไหลลงมาบรรจบกับ East Fork
ณ​ บริเวณที่เรียกว่า Kevin's Bench ซึ่งอยู่ห่างจากต้นทางเพียงแค่ 15 นาที

ภาพนี้ถ่ายเวลาสองทุ่มของวันอาทิตย์ เดือน มี.ค. 2554 เปิดหน้ากล้องไว้ 1 วินาที

นี่เป็นจุดที่ผมชอบพาเพื่อนที่ไม่เคยเดินป่าให้มาทดลองเดิน เพราะทางสั้น เดินง่าย และความงดงามที่ได้เห็นไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง คนต่างเมืองส่วนใหญ่มาเที่ยว Santa Barbara ก็จะแวะไปตามสถานที่หลอกเด็ก เอ๊ย สถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างๆ ตามเช็คลิสต์ เช่น downtown State St, Stearn Wharf, Courthouse, beach โน่นนี่, museum โน่นนี่  แต่ผมว่าความงามที่แท้จริงของเมืองนี้มันอยู่ในภูเขา เมื่อมีเพื่อนมาเที่ยวจากต่างเมืองผมก็จะพาไปตาม check list สักสองสามแห่ง พอถึงเวลาหิวก็แพ็คอาหารมานั่งทานกันที่ Kevin's Bench แห่งนี้

ปกติผมจะใส่รองเท้าบู้ตของ Columbia แบบแข็งแรงแน่นหนาเมื่อเดินป่า
แต่สำหรับการเดินเพียง 15 นาทีในวันนี้จะใส่รองเท้าอะไรเดินก็ได้
(ภาพถ่ายโดยแฟง, ธ.ค. 2553)
หลังจากที่สนุกกับ Kevin's bench เป็นที่เรียบร้อย ผมก็จะเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออก ทางจะขึ้นเนินเล็กน้อย ก่อนที่จะพับไปพับมา แบบที่ศัพท์เทคนิคเขาเรียกว่า switchbacks ซึ่งเป็นการออกแบบทางเดินเพื่อ
  1. ประหยัดแรงของผู้เดินในขณะขึ้นเนิน และ
  2. ลดการกัดเซาะหน้าดินในฤดูน้ำหลาก เพราะถ้าหากทางเดินมีความชันมากน้ำก็จะไหลเร็วมาก
พวกที่บ้าพลัง/เทสโทสเทอโรนสูง/รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะ "แสดงความสามารถ" โดยการเดินลัดตัดทาง switchback เหล่านี้ การกระทำแบบนี้ท่านว่าไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เป็นการทำร้ายธรรมชาติโดยที่เราไม่รู้ตัว

ขึ้นเนินไปสักพักพอให้ได้เหนื่อยก็ขอยืนพิงก้อนหินบนหน้าผาทางขวามือสักหน่อย มองไปทางซ้ายเป็นหุบเหวและธารน้ำที่เราเดินจากขึ้นมาเมื่อครู่นี้ แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะจากมันไปนาน เบื้องหน้าอีกไม่นานเรากำลังจะไปบรรจบกับ East Fork Cold Spring Creek อีกครั้ง ณ​ จุดที่เรียกว่า "First Crossing"

ณ จุดยืนพักนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปด้านหลังจะพบว่าเราอยู่บนที่สูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควร นั่นเพราะเราเริ่มต้นเดินจากระดับประมาณ 650 ฟุต (~200 เมตร) เมื่อมองไปก็จะเห็นมหาสมุทรแปซิฟิกโผล่ขึ้นมาจากแอ่งของหุบเขาให้เราได้ชุ่มชื้นใจ

มุมมองจากจุดแวะพักระหว่างเดินจาก Kevin's Bench ขึ้นมายัง First Crossing ถ่ายเมื่อพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว (มี.ค. 2554)
คนส่วนใหญ่ที่ผมพามาเดินครั้งแรก เมื่อเดินถึงจุดนี้ก็จะรู้สึกเหนื่อยและต้องยืนพักอยู่นาน ผมก็เช่นกัน เพราะทาง switchback ที่ต้องไต่ขึ้นมานั้นแม้จะไม่ยาวแต่ก็ไม่มีจุดให้ยืนพักชมวิวได้เลย นี่เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่นักเดินป่าทางไกลต้องเอาชนะให้ได้ ที่ว่าเอาชนะนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องอึดถึกเดินโดยไม่พักให้ได้ แต่หมายความว่า ต้องเอาชนะใจตัวเอง ใช้สมองสั่งใจตัวเองให้หยุดพักให้ได้ทันทีที่เหนื่อย แม้ว่าจะดูเหมือน "ไม่มีที่ให้ยืนพัก" ก็ตาม เพราะดูเผินๆ มันอาจเหมือนจะไม่มีวิวอะไรที่น่าดึงดูดความสนใจ แต่ถ้าเราใจเย็นๆ หยุดพักให้หายใจได้นิ่ง หยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมา มองผ่าน viewfinder (หรือจอ LCD) ไปรอบๆ อาจจะพบกับความงามที่มองไม่เห็นเมื่อเดินผ่านก็ได้

การพักบ่อยๆ นั้นยังจะสามารถทำให้เราเดินต่อไปได้ไกลขึ้น และไกลจากจุดนั้นไปอีกนิดเดียวก็ถึงจุดที่ทางเดินตัดกับธารน้ำครั้งแรก เรียกว่า First Crossing ผมเดินกระโดดข้ามก้อนหินสองสามก้อนก็ข้ามไปได้ แต่จะรีบข้ามไปทำไม? ในเมื่อความงามของสายน้ำและเสียงน้ำตกเล็กๆ ที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ มันช่างเชื้อเชิญให้แวะเยี่ยมชม

โขดหินที่ต้องเดินข้าม ณ​ First Crossing
ผมเคยเห็นภาพมุมนี้ครั้งแรกจากบทความของ Ray Ford
เห็นแล้วก็รู้สึกทันทีว่าจะต้องเดินมาเห็นด้วยตาของตัวเองให้ได้
เมื่อมาครั้งแรกๆ ผมพยายามจะถ่ายรูปอยู่หลายครั้ง
แล้วก็ต้องผิดหวังไปหลายครั้งเช่นกัน
เพราะจุดนี้อยู่ในที่ร่มตลอดเวลา แสงน้อยมากแม้จะเป็นตอนกลางวัน
ไม่มีทางที่จะถือกล้องนิ่งเพียงพอได้เลย ทางเดียวที่จะถ่ายได้ชัดก็คือต้องมีขาตั้งกล้อง
ซึ่งผมเคยคิดว่าคงแบกขึ้นมาไม่ไหว ... จนกระทั่งได้พบกับ Manfrotto
(แล้ววันหลังจะเล่าให้ฟังเรื่องความวิเศษของ Manfrotto)
เขยิบเข้าไปใกล้อีกนิด ลองเอาเท้าสัมผัสกับน้ำของ Cold Spring Creek
แล้วจึงเข้าใจแจ่มแจ้งว่าชื่อนี้มีที่มาอย่างไร
จ๊อบ หนึ่งในลูกทัวร์ที่ผมเคยพาไปทัศนศึกษาที่นี่
กระโดดโลดเต้นแถวๆ First Crossing ได้พอสมควรแล้วก็ถึงเวลาเดินต่อไป ทางเดินถัดจากนี้จะเป็นการขึ้นเนินแบบง่ายๆ ไม่ชันมาก เมื่อเดินไปแล้วจะได้ยินเสียงน้ำอยู่ทางขวามือตลอดเวลา มองไปก็จะเห็นแอ่งน้ำใหญ่น่ากระโดดลงไปเล่น แต่ไม่มีทางลงเป็นเรื่องเป็นราว ต้องค่อยๆ มองหาจุดที่ห้อยโหนเอาตัวลงไปได้ ไม่อันตรายมากนักแต่ก็ต้องระมัดระวัง

บ่อน้ำบ่อนี้น้ำใสไหลแรงตลอดปี ตั้งอยู่ทางขวามือของทางระหว่าง First และ Second Crossing 
มองขึ้นไปเหนือน้ำของบ่อในภาพที่แล้ว
พบว่าเป็นธารน้ำที่ไหลต่อเนื่องมาจากที่ไกล
รายรอบไปด้วยโขดหินให้เราได้นั่งทานข้าวชมวิวอย่างสบายใจ
เหนือน้ำขึ้นไปอีกนิดก็เป็นบ่อน้ำตกอีกบ่อหนึ่ง

เดินมาเหนื่อยๆ ก็ต้องลงแช่ให้หายเหนื่อย
ฟองอากาศที่เห็นไม่ใช่หัวฉีดสปา
แต่เป็นน้ำตกที่ไหลกระทบผื้นน้ำ
สปาธรรมชาติแห่งนี้จะช่วยบำบัดโรคอะไรได้บ้างก็ไม่รู้
รู้แต่ว่าความเย็นของน้ำทำให้ลืมความเครียดทุกชนิดได้ชั่วขณะ 
หลังจากแวะชมความงามและสัมผัสบ่อน้ำเย็นเหล่านี้แล้ว ทางเดินก็จะวกไปทางซ้ายก่อนท่ีจะตัดกับธารน้ำเป็นครั้งที่สองและครั้งสุดท้าย ณ จุดที่เรียกว่า Second Crossing ถ้าใครคิดจะเดินไปถึง East Camino Cielo (4 ไมล์จากด้านล่าง) ก็ควรตรวจสอบปริมาณน้ำดื่มที่เหลืออยู่ให้ดี หากใกล้หมดก็ควรจะเติมน้ำที่นี่ (ควรใช้เครื่องกรองน้ำ) เพราะถัดจากนี้จะไม่มีแหล่งน้ำอีกแล้ว การขาดน้ำเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักเดินป่าหน้าใหม่ต้องตายหรือต้องโทรเรียกความช่วยเหลือ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ง่ายมาก เพียงแค่อย่าประมาณความต้องการของร่างกายตัวเองต่ำไป

น้องเก้า ผู้มาเยือนจากชิคาโก้ กำลังข้าม Second Crossing 
หลังจากนี้คือการเดินไต่ขึ้นเขาระยะยาว ผ่าน switchback พับไปพับมาหลายตลบ เหนื่อยก็เหนื่อย แต่วิวก็สวย จุดที่น่าสนใจต่อไปก็คือถนนลูกรัง (dirt road) ที่เรียกว่า Edison Rd หรือ Edison catway ที่มาของชื่อนี้น่าจะมาจากชืื่อบริษัทจ่ายไฟฟ้า Edison เพราะถนนนี้มีจุดประสงค์หลักเพียงอย่างเดียวก็คือเอาไว้ให้รถของการไฟฟ้า (หมายถึงบริษัท Edison นั่นแหละ ..​ ที่นี่ทุกอย่างเป็นของเอกชน ไม่มีรัฐวิสาหกิจ) ขับไปก่อสร้างและบำรุงรักษาเสาไฟฟ้า/เสาโทรศัพท์ต่างๆ ที่อยู่บนเนินเขา ถนนนี้ยาวต่อเนื่องผ่าน trail หลาย trail แต่มักจะไม่ใช่ทางที่คนชอบมาเดินกันสักเท่าไหร่เพราะว่ามันเป็นถนน มันน่าเบื่อและร้อนมาก ปราศจากร่มเงาของต้นไม้

อย่างไรก็ตามที่จุดตัดของ E Cold Spring Trail และ Edison Road นี้ มีจุดชมวิวที่ชื่อว่า Montecito Outlook สามารถมองไปเห็นเมือง Santa Barbara, มหาสมุทรแปซิฟิก, และหมู่เกาะ Channel Islands ได้อย่างสวยงามชัดเจน

จุดที่ Edison Rd ตัดกับ East Cold Spring Trail คือจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดจุดหนึ่งของเมืองนี้ เราสามารถมองไปทางทิศใต้แล้วเห็นทะเล หรือมองไปทางทิศตะวันตก (ทิศของภาพนี้) แล้วเห็น เอ่อ เสาไฟฟ้าปะปนกับภูเขาอย่าลงตัว (หรือเปล่า?) หรืออาจมองไปทางทิศเหนือแล้วเห็นทางเดินขึ้นไปสู่ยอดเขาอันน่าหลงไหล (แต่.. อาจจะเหนื่อยเกินที่จะเดินต่อไปได้อีก สำหรับการเดินครั้งแรก) ภาพนี้ถ่ายโดย John Carter หรือไม่ก็พี่น้ำมนต์ (เอาเครดิตไปคนละครึ่ง) ต้นเดือนธันวาคม 2552

เมื่อเดินมาถึงจุดนี้แล้วเราอาจเลือกเดินกลับลงทางหลังเขาหรือทางหน้าเขาก็ได้ แต่เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2552 ผมเดินมาคนเดียวด้วยจิตใจตั้งมั่นว่าวันนี้ผมจะต้องเดินขึ้นไปให้ถึงยอดเขาให้จงได้ ผมตรวจสอบน้ำในกระติกว่ามีเพียงพอ ก่อนที่จะยิ้มและก้าวเดินต่อไป (ถ้าน้ำเหลือครึ่งหนึ่งเมื่อไหร่จะเดินกลับทันที)

เดินขึ้นมาจาก Edison Rd เพียง 6 นาที ภาพที่ได้เห็นก็เป็นแบบนี้ รู้สึกใจชื้นว่าผลตอบแทนของแรงที่ลงไปนั้นคือวิวที่สวยงามมากขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ บ้านทรงห้าเหลี่ยมนั้นคงเป็นของเศรษฐีคนหนึ่ง เศรษฐีประเทศนี้เขาชอบปลูกบ้านไว้บนภูเขา แสวงหาความสงบจากชีวิตในเมือง การที่เขาถางต้นไม่จนโล่งเตียนรอบๆ บ้านนั้นไม่ใช่เพราะเขาไม่รักธรรมชาติ แต่เพราะไฟป่าที่นี่เกิดบ่อยจึงต้องกันพื้นที่ไว้ไม่ให้มีเชื้อเพลิง
มองไปทางทิศตะวันตกก็จะเห็น Edison Rd เลี้อยตามเชิงเขา มีเสาไฟฟ้าตั้งอยู่เป็นระยะ มองไกลออกไปก็เป็นชายฝั่งทะเลของเมือง Summerland, Carpinteria, Ventura, Oxnard ไกลลิบลิ่วโน้นก็คือ LA (คิดว่าคงไม่อยู่ในภาพนี้)
ทางเดินชันขึ้นเรื่อยๆ และเต็มไปด้วยก้อนหินชวนให้เราสะดุดข้อเท้าพลิกแพลง ขอแนะนำว่าไม่ควรใส่รองเท้าวิ่งอย่างที่ผมใส่ ควรจะใส่รองเท้าบูธที่หุ้มข้อได้อย่างแน่นหนา ในขณะที่ถ่ายภาพนี้ผมยืนพักอยู่ที่จุดกึ่งกลางทางพอดี วิธีพักของผมก็คือวางกล้องเอาไว้บนก้อนหินสักก้อนแล้วก็ถ่ายรูปตัวเองไปเรื่อยๆ จนหายเหนื่อย

หลังจาก Edison Rd จุดสนใจจุดต่อไปก็คือ The Eucaliptus Tree เอ๊ะ! ทำไมอยู่ดีๆ จึงมีต้นยูคาลิปตัสยืนตระหง่านอยู่ต้นเดียวกลางเขาซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้พุ่มเตี้ย (ชนิดที่เรียกว่า chaparral)?? ผมก็ไม่อาจทราบได้ แต่ว่าต้นไม้ต้นนี้ช่างเป็นจุดนั่ง/นอนพักที่เหมาะสมยิ่งนัก ลมไม่แรง แสงแดดไม่ร้อน ...

ต้นยูคาลิปตัสเดียวดายบน East Cold Spring Trail
ถูกใช้เป็นกระดานข้อความเพื่อสารภาพรัก
ขอให้พวกที่แสดงความรักต่อกันโดยการทำร้ายธรรมชาติแบบนี้
ต้องเลิกกันอย่างเจ็บปวดด้วยเทิ้ดดดดดด! สาธุ!!

ก่อนออกเดินทางต่อผมขอถ่ายรูปคู่กับต้นยูคาลิปตัสไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย แผ่นกลมๆ ที่เห็นคือฮาร์ดไดรฟ์​ (ไม่ทราบขนาดความจุ)​ ที่เสียชีวิตลงแล้วแต่ร่างกายของมันยังมีประโยชน์ ใช้เป็นกระจกถ่ายรูปก็ได้ ใช้เป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณฉุกเฉินก็ได้ น้ำหนักเบา แข็งแรง และปลอดภัยกว่ากระจก

สมัยที่ผมยังใช้กล้อง Sony DSC-P7 ผมรักมันมาก เพราะผมถ่ายทุกอย่างเป็น auto แล้วภาพก็ออกมาดูดี​ (ด้วยความเห็นเข้าข้างตัวเองในขณะนั้น​) ออโต้โฟกัสทำงานเร็ว ถ่ายมาโครก็สวย เสียอย่างเดียวคือถ่าย indoor ไม่ได้เรื่องเลย ผมใช้ชีิวิตอยู่กับมันจนวาระสุดท้าย มันเสียชีวิตลงที่ Matilija Falls ในวันที่ผมไปเดินกับจอห์นคาร์เตอร์ น้องนุ่น และน้องหมิว (ไว้จะเล่าให้ฟังวันหลัง)

หมวกเแดงที่เห็นนั้นเพื่อนร่วมงานชาวสวิสเซอร์แลนด์ให้มาเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งฝึกงานที่กูเกิ้ล (ส.ค. 2006) ผมก็ให้หมวกตุ๊กๆ แลกกับเขาไป หมวกของเขาดูดีมีสกุลกว่าเยอะครับ เอาหละนอกเรื่องพอแล้ว
ผมเดินต่อไปเรื่อยๆ ถ่ายรูปท้องฟ้าเก็บไว้เป็นวอลเปเปอร์ ในช่วงปีใหม่ 2010 ผมได้นำภาพนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของปฏิทินแจกให้เพื่อนๆ ที่เคยร่วมเดินป่าด้วยกันเกินสิบไมล์ (ตอนนั้นยังมีไม่กี่คนก็เลยแจกได้ ตอนนี้มีเพื่อนเดินเยอะเกินงบประมาณแล้ว)
หนทางจากต้นยูคาลิปตัสนั้นชวนให้หยุดหันหลังเดินกลับหลายครั้ง เพราะแม้ปลายทางจะตั้งตระหง่านให้เห็นอยู่เบื้องหน้าแต่ก็รู้สึกว่าเดินเท่าไหร่ก็ไม่ถึงสักที ผมนั่งนึกถึงคำสอนของลุงจอห์น (เกจิอาจารย์เดินป่าที่ผมเคารพนับถือ) ที่ว่า "Hiking is for inspiration, not just perspiration." นั่นคือ "เราเดินป่าเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เพื่อให้เหงื่อท่วมตัว" (อืม.. แปลเป็นไทยแล้วลูกเล่นทางภาษามันหายไปนิดนึง) ความหมายก็คือเราไม่ควรสักแต่ว่าเดินๆๆ เพื่อไปที่จุดหมาย แต่จงรู้จักลดความเร็วลง มองไปรอบข้าง หยุดพักทานขนม ดื่มน้ำ แล้วเราจะรู้สึกชุ่มชื้นหัวใจกับกิจกรรมที่ทำอยู่จนไม่รู้สึกว่าเหงื่อที่ไหลริน (พลั่กๆๆๆ!) จะเป็นสาระสำคัญอะไรเลย

คำสอนนี้นำไปใช้กับการดำรงชีิวิตได้เหมือนกัน

ผมหยุดพักทานโน่นทานนี่ ดื่มน้ำมากๆ ไม่ใช่แค่ให้หายคอแห้งแต่ต้องดื่มให้หมดกระหาย ผมพยายามจะไม่ทำพลาดอย่างที่นักเดินป่าหน้าใหม่เขาพลาดกันบ่อยๆ นั่นคือ คิดว่าการแบกน้ำเป็นภาระ จึงแบกน้ำมาให้น้อยที่สุดและต้องคอยขยักขย่อน (rationing) จิบทีละนิดๆ แค่พอให้ลื่นคอ ถ้าไม่กระหายจริงๆ ก็ไม่แวะดื่มน้ำ นั่นเป็นสาเหตุให้หลายๆ คนต้องเกิดภาวะขาดน้ำ (dehydration) และหมดเรี่ยวแรง เดินโซเซ หน้ามืด เป็นลม สะดุดก้อนหิน ขาพลิกขาแพลง จนต้องลำบากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเขาขับเฮลิคอปเตอร์ขึ้นมาช่วย (ไม่ได้ชื่อป่อเต็กตึ๊ง แต่มีมูลนิธิแบบเดียวกันนี้ที่นี่เหมือนกัน อยู่ในการดูแลของตำรวจ Sheriff Department (ผมก็.. เคยใช้บริการ แหะๆ ..​ แต่ด้วยสาเหตุอื่น)) ช่วยได้ก็รอดไป ช่วยไม่ได้ก็ตายไปก็มี

กลับมาที่ trail กันต่อ ผมเดินไปจนถึงจุดที่ไม่ห่างจากปลายทางมากนักแล้ว มองเห็นทางเดินออกนอกเส้นทางไปสู่จุดชมวิวบนยอดเขาเล็กๆ ที่เรียกว่า Montecito Peak (คนละอันกับ Montecito Outlook ซึ่งเราผ่านมานานแล้ว) ในวันนั้นผมประเมินพลังตัวเองแล้วตัดสินใจไม่แวะไป เพราะทางที่เดินขึ้นไปนั้นค่อนข้างชัน อีกทั้งไม่ใช่ทางหลัก มีคนเดินไปไม่บ่อยทำให้พื้นทรายไม่แน่น เดินแล้วอาจลื่นตกเขาได้ง่ายๆ

แต่เจ็ดเดือนหลังจากนั้นผมได้แวะไป Montecito Peak กับพี่น้ำมนต์ จึงมีภาพเหล่านี้มาให้ดูชิม เอ๊ย ดูชม (แต่เรียกว่าชิมน่ะถูกแล้ว เพราะว่ามีภาพอีกมากที่อยากให้ชม แต่เดี๋ยวเห็นหมดแล้วจะไม่ตื่นเต้นตอนที่ไปเอง จึงเลือกแค่ส่วนน้อยนิดมาให้ชิม)

ยอดเขา Montecito Peak โผล่ขึ้นมาเหนือทะเลหมอก (ก.ค. 2553) จากมุมนี้สามารถเห็นทางเดินขึ้นได้ชัดเจน (สั้น แต่ชันมากกก)

พี่น้ำมนต์สวมวิญญาณลูกนักพฤกษศาสตร์ ก่อนเดินขึ้น Montecito Peak

ผีเสื้อสีสดและทุ่งหญ้าสีทอง มันคงจะมีความสุขมาก

วันนี้ผมได้เรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพผีเสื้อ (หรือแมลงอื่นๆ) ผมใช้เลนส์ 70-300mm ยืนห่างๆ แล้วซูมเข้าไป ถ่ายเสร็จแล้วค่อยๆ เขยิบเข้าใกล้เรื่อยๆ และถ่ายไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะบินหนีไป ถ้ามันกำลังขยับปีกอยู่ก็ใช้ highspeed burst mode (รัวชัตเตอร์อัตโนมัติสี่ครั้งต่อวินาที) ผมกลับบ้านมาดูภาพผลลัพธ์แล้วพบว่าภาพที่สวยดูมีคุณค่ามากที่สุดไม่ใช่ภาพที่เห็นผีเสื้อตัวเบ้อเร่อเต็มจอ แต่เป็นภาพที่เห็นเรื่องราวรอบๆ ผีเสื้ออยู่ด้วย ความยากอยู่ที่ว่าจะเก็บเรื่องราวอย่างไรให้ไม่รกจอ? ในภาพนี้ผมโชคดีที่ต้นหญ้ามีสีโทนเดียวกันทั้งหมด แม้กิ่งต่างๆ จะรกยุ่บยั่บแต่การใช้ระยะโฟกัสยาวๆ (300mm สำหรับภาพนี้) ก็ช่วยละลายพื้นหลังให้กลืนกันได้ ส่วน aperture ไม่ต้องเปิดให้ใหญ่สุดก็ได้ ผีเสื้อจะได้ชัดทั้งตัว (ภาพนี้ใช้ f/7.1 .. ซึ่งผมไม่ได้ปรับเองหรอก, Nikon มันปรับอัตโนมัติให้, วันนั้นยังปรับเองไม่เป็น)

ได้เวลาอาหารกลางวันแล้ว!

ในบริเวณนี้มีผีเสื้อมากมายบินมาให้ถ่ายรูป แต่เราจะเลือกตัวไหนเป็นดาราดีล่ะ? ผีเสื้อตัวนี้ไม่ใช่ตัวที่สวยที่สุดแต่มันเกาะอยู่บนดอกไม้ที่ชูช่อห่างจากดอกอื่น ทำให้ภาพไม่รกตา อย่างไรก็ตามดูจากเงาของแสงแล้วพบว่าเงาผีเสื้อบังดอกไม้ ถ้าจะให้ดีควรไปถ่ายจากอีกด้านหนึ่ง แต่บางครั้งเราก็เลือกสถานการณ์ไม่ได้ทั้งหมด 

SMS from heaven
ในวันที่เดินขึ้นมาบนนี้ พี่น้ำมนต์อยู่ระหว่างการรับยาเคมีบำบัด
ติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 7 แล้ว (และนี่ไม่ใช่การเดินป่าครั้งแรก..) 
กล่องใส่สมุดเยี่ยมชม
ข้างในกล่องมีวรรณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องสั้น เรียงความ กลอน ภาพวาด ขำขัน และนิยายรักหวานซึ้งชวนอาเจียน ผมถ่ายภาพข้างในมาเยอะเหมือนกันแต่ก็ต้องคิดหนักว่าควรจะเผยแพร่มันหรือไม่ เพราะกลัวจะเสียความขลังของกล่องใบนี้ ข้อความบางอย่างก็ควรจะอยู่บนนั้นตลอดไป ให้พบเห็นได้เฉพาะผู้ที่เดินขึ้นไปถึงเท่านั้น
ขาลงจาก Montecito Peak คนที่นำ trekking poles (ไม้ค้ำยัน) ขึ้นมาด้วยก็จะรู้สึกขอบคุณตัวเอง คนที่ไม่ได้เอาขึ้นมาก็จะต้องฝากความหวังในการรอดชีวิตไว้กับแขน ขา ศอก เข่า ก้น (ไม่ต้องห่วง ได้ล้มแน่) และประสาทการทรงตัวของหูชั้นใน ผมเองใช้ tripod (ขาตั้งกล้อง) ราคา $20 แทนไม้ค้ำยัน พบว่าพอใช้แทนกันได้

หลังจากนั้นทางเดินก็เหลืออีกไม่ไกล อาคารรูปจานบินใหญ่ยักษ์จะโผล่มาให้เราเห็นเป็นเป้าหมายตลอดทาง นั่นแหละคือจุดสูงสุดของ East Cold Spring Trail คุณ Ray Ford เขาบอกไว้ว่าครั้งใดที่เขาได้เดินขึ้นมาถึงตรงนี้ เขาก็จะปีนขึ้นไปนอนบนจานบิน มองท้องฟ้า แล้วรู้สึกอย่างที่คุณ Stewart Edward White เคยกล่าวไว้ว่า

“It left you breathless, wonder-stricken, awed. You could do nothing but look, and look, and look again, tongue-tied by the impossibility of doing justice to what you felt. In a little … the change had come to you, a change definite and enduring, which left your inner processes forever different from what they had been.” -- Stewart Edward White, in The Mountains
แปลแบบหลวมๆ ได้ว่า

"สิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหน้านั้นจะทำให้คุณต้องทึ่งจนลืมหายใจ คุณจะทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากมอง มอง มอง และก็มองอยู่อย่างนั้น โดยที่ไม่มีทางจะหาคำใดๆ มาเอ่ยได้อย่างสมกับความงามที่ประสบพบเห็น. [...] ทีละน้อย ทีละน้อย การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ก้าวเข้าสู่ตัวคุณ​ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและถาวร เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ระบบความคิดภายในจิตของคุณแตกต่างไปจากเดิมตลอดกาล"​ -- Stewart Edward White, ในหนังสือ The Mountains


แทงก์น้ำรูปจานบินขนาดยักษ์บนจุดสูงสุดของ East Cold Spring Trail ถูกออกแบบมาเพื่อเก็บกักน้ำฝน สังเกตจานจะลาดลงมาตรงกลางซึ่งเป็นรูสำหรับเก็บสะสมน้ำ รูมีขนาดเล็กเพื่อป้องกันการระเหย เข้าใจว่าน้ำเหล่านี้มีไว้ใช้เพื่อการดับเพลิง มีประโยชน์มากเพราะไฟป่าเกิดขึ้นแทบทุกปี
และในที่สุดผมก็เดินมาจนถึงยอดดอย ภาพที่เห็นภาพแรกคือป้ายชื่อ trail เป็นป้ายโลหะ เขียนด้วยการเจาะให้เป็นรู ดังนั้นป้ายแบบนี้จะทนทานต่อดินน้ำลมไฟมากพอสมควร

ป้ายต้อนรับสู่ Cold Spring Trail ได้บอกผมว่าผมเดินมาจนสุดทางแล้ว ซึ่งนับเป็นระยะทางได้ 4 ไมล์จากจุดเริ่มต้นด้านล่างที่ East Mountain Drive ผมใช้เวลาในการเดิน 2 ชั่วโมง 50 นาที และ GPS ผมบอกว่าระยะทางจริงๆ คือประมาณ 4.4 ไมล์ ผมรู้สึกปลื้มปิติในความสามารถของสองเท้าตัวเองเป็นอันมาก รู้สึกดีใจที่ทำได้สำเร็จ

ทีแรกผมตั้งใจจะปีนขึ้นไปนั่งทานข้าว ชมพระอาทิตย์ตกดินบนแทงก์น้ำ แต่ก็เปลี่ยนใจเพราะว่าวันนี้ลมแรงมาก อากาศที่ร้อนๆ ในตอนกลางวัน เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นลมหนาวในช่วงใกล้ค่ำเสียแล้ว ผมเดินขึ้นมาบนเนินทางทิศตะวันออกของแทงก์น้ำ พบกับต้นไม้ใหญ่หลายต้น ผมเลือกต้นขนาดพอเหมาะเป็นกำแพงกั้นลมและนั่งทานข้าวที่เตรียมมา

การนั่งบนพื้นกรวดอาจทำให้เจ็บก้น
ผมจึงพกแผ่นโฟมติดกระเป๋ามาด้วย รู้สึกว่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง
แผ่นโฟมสำหรับนั่งนี้เขาขายกันตามร้านอุปกรณ์เดินป่าหลายสิบดอลล่าร์
ผมหยิบจากกล่องพัสดุมาใช้ได้ฟรีๆ 
จากจุดที่ผมนั่งทานข้าว นี่คือภาพที่ผมเห็นอยู่เบื้องหน้า
พระจันทร์กำลังลอยขึ้นมาด้านหลังต้นไม้ต้นใหญ่
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าพื้นที่ว่างระหว่างผมและต้นไม้ต้นนั้นดูเหมือนจะถูกถาง ถางไปทำไม? คำตอบก็คือมีไว้เป็นแนวป้องกันไฟ เผื่อว่าไฟป่าไหม้มาจากด้านหนึ่งจะได้ไม่ลุกลามไปอีกด้านหนึ่ง เป็นการยอมตัดต้นไม้ส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ของต้นไม้ส่วนใหญ่ในยามที่เกิดอัคคีภัย


ระหว่างนั่งทานข้าวก็พบว่า GPS ที่พกมามีสัญญาณเตือนแบตเตอร์รี่ใกล้หมด (ใช้มาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้) ผมจึงทำการเปลี่ยนแบตฯ ก่อนออกเดินทาง นักเดินป่าต้องอย่าลืมพกแบตฯ สำรองไปด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสำหรับ GPS หรือว่าไฟฉาย ไม่อย่างนั้นแล้วอุปกรณ์ของท่านอาจไม่สามารถช่วยชีวิตท่านได้

อิ่มแล้ว ผมพร้อมจะเดินทางกลับลงไปยังเมืองที่อยู่เบื้องล่าง ในขณะเดียวกับที่พระอาทิตย์กำลังจะเดินทางไปส่องสว่างเป็นแดดยามเช้าในอีกซีกโลก

ภาพนี้ถ่ายโดยตั้งกล้องไว้บนกิ่งไม้ของต้นไม้ต้นเดียวกับที่ผมนั่งพิงระหว่างทานข้าว
ประโยชน์ของต้นไม้มีมากมายจริงๆ
ขากลับ ผมทั้งวิ่ง ทั้งกระโดด ลงทางอันลาดชัน ส่วนหนึ่งก็ด้วยความสนุกสนาน ดีใจที่พิชิต trail นี้ได้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก อีกส่วนหนึ่งก็ด้วยความกลัวว่าจะกลับลงไปถึงด้านล่างค่ำเกินไปแล้วจะเป็นอันตราย อีกส่วนหนึ่งก็ด้วยความหนาวเหน็บของค่ำคืนที่คืบเขยิบเข้ามาทุกที มีนักเดินป่ามือสมัครเล่นหลายคนที่ต้องตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต และต้องโทรขอความช่วยเหลือ (ถ้าโทรได้ก็รอดไป) เนื่องจากไม่ได้เตรียมชุดป้องกันความหนาวให้เพียงพอ ด้วยเห็นว่าตอนกลางวันนั้นร้อนตับแตก หารู้ไม่ว่าพอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วอุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว


ส่วนนี้ต้องขอบอกทุกท่านให้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผมว่า การรีบเดินกลับบ้าน นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ! ครั้งนี้ผมรอดมาได้เพราะผมโชคดี แต่จริงๆ แล้วการรีบร้อนนั้นสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นหลายประการ เช่น
  1. เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ขาพลิกขาแพลง ซึ่งจะเป็นเรื่องที่เฮงซวยมากเพราะเดินต่อไม่ได้
  2. เสี่ยงต่อการเดินผิดทาง ไม่ว่าท่านจะรีบขนาดไหน จงยอมสละเวลามาเช็คแผนที่หรือ GPS สม่ำเสมอ
  3. ท่านจะมี mindset ที่ตั้งอยู่บนความกลัว และความกลัวนั้นเป็นพื้นฐานของอารมณ์ที่นำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การไม่พักดื่มน้ำ, การทดลองเดินทางลัดทั้งๆ ที่ไม่เคยเดินมาก่อน, การใส่อารมณ์กับเพื่อนร่วมทีม (กรณีเดินทางหลายคน) หรือกับตัวเอง, ฯลฯ 

แม้จะรีบร้อนแค่ไหน แต่เมื่อเห็นภาพพระอาทิตย์ตกดินอย่างนี้ก็ต้องขอแวะถ่ายรูปสักหน่อย ดวงตะวันยังคงหลบอยู่หลังเมฆทึบ แต่ผืนน้ำทะเลก็ทำหน้าที่สะท้อนแสงที่อยู่เบื้องล่างให้เราได้แอบเห็นมันได้ บริเวณเมืองยังไม่มืดเท่าไหร่ แต่บริเวณหลังเขามืดสนิทแล้ว บ้านหลังหนึ่งเริ่มเปิดไฟดวงเล็กๆ ผมมองเห็นไฟดวงนั้น คนในบ้านหลังนั้นจะเห็นไฟของ headlamp ที่คาดอยู่บนหัวผมไหมนะ?
Highway 101 คือเส้นเลือดใหญ่ที่พาดผ่านเมือง Santa Barbara หักโค้งสองครั้งมองเห็นเป็นสัญลักษณ์ Integrate 
(เกร็ดความรู้: ลีบนิซ (Leibniz) เป็นผู้ออกแบบสัญลักษณ์ Integrate เพื่อให้คล้ายตัว S (ย่อมาจาก Summation))
ในที่สุดผมก็เดินกลับลงมาจนถึงจุดเริ่มต้น เส้นทางที่มืดสนิทนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคมากเกินไปเพราะผมมีผู้ช่วยสำคัญสามอย่าง:
  1. headlamp สำหรับส่องสว่าง ในวันนั้นผมใช้แบบที่เบาและพลังงานไม่สูงนัก (ใช้แบต AAA สองก้อน, ราคา $20) ก็พบว่าเพียงพอ ต่อมาผมอัพเกรดเป็นแบบที่สว่างมากขึ้น (ใช้แบต AAA สามก้อน, ราคา $30) ก็รู้สึกอุ่นใจมากขึ้นนิดนึง การใช้ headlamp แทนที่จะใช้ไฟฉายทำให้เรามีมือว่างทั้งสองมือในการถือไม้ค้ำยัน แต่บางตำราเขาบอกว่าควรถือไฟฉายไปด้วยอีกหนึ่งอันช่วยกันส่อง เพราะแสงจากไฟฉายที่ส่องจากมือจะทำให้เกิดเงา ทำให้เรามองเห็นสิ่งกีดขวางได้ชัดขึ้น แต่แสงจาก headlamp อย่างเดียวจะทำให้ไม่เกิดเงา ส่วนตัวผมคิดว่า headlamp อย่างเดียวก็เพียงพอสำหรับคนตาดีพอสมควร (ถ้าตาไม่ค่อยดีก็อย่าเดินตอนกลางคืนเลย) เป็นอย่างไร งงไหม? เอาหละ เพื่อให้งงเข้าไปอีก: บางตำราเขาก็บอกว่าอย่าใช้แสงสว่างมากเกินควร และอย่าใช้แสงสีขาว ให้ใช้แสงสีแดงเพื่อจะคงสภาพความเคยชินกับความมืดของตาไว้ได้ (เพื่อให้รูม่านตายังคงเปิดกว้าง และให้เซลล์ประสาทรับภาพขาวดำหรือ rod ทำงานได้ดี)
  2. trekking poles หรือไม้ค้ำยัน มีประโยชน์มากเพราะใช้คลำทาง และใช้ป้องกันไม่ให้หกล้มได้อย่างดียิ่ง ในช่วงที่ทางลงชันมากๆ การนำไม้คำ้ยันลงไปก่อนยังจะช่วยเฉลี่ยน้ำหนักตัวไปที่กล้ามเนื้อแขน ทำให้ข้อเข่าของเราเจ็บน้อยลง
  3. GPS ผมใช้ของ Garmin ราคาแค่ $110 เอง ซึ่งผมจะมองหน้าจออยู่ตลอดเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าทางที่กำลังเดินกลับอยู่นั้นเป็นทางเดียวกับที่เดินมา ถ้าผิดทางปุ๊บก็จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที มีหลายครั้งหลายหนที่เรานึกว่าเราจำทางได้เก่งแต่พอขากลับเรากลับนึกไม่ออกว่าจะต้องเดินไปทางไหน นั่นเพราะขาไปและขากลับเรามองเห็นภาพที่แตกต่างกัน นักเดินป่ามืออาชีพจะต้องไม่มองไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องหัดมองหลังไว้เป็นพักๆ ด้วย (ช่างภาพที่ดีต้องทำอย่างนี้เช่นกัน) ซึ่งความช่างสังเกตนี้สำคัญที่สุด ส่วน GPS ก็เป็นตัวช่วยที่สำคัญรองลงมา
ผมใช้ Headlamp ของ Black Diamond ซึ่งเขาโฆษณาว่ากันฝนได้
ซึ่งผมได้ทดลองดูแล้วพบว่ากันฝนแบบหนักๆ ได้จริงๆ
ภาพที่เห็นอยู่นี้เป็นแบบ $20 ซึ่งก็สว่างเพียงพอแล้ว
ปัจจุบันผมใช้แบบ $30 ยิ่งสว่างเข้าไปใหญ่
สามารถเปิดโหมดกระพริบเพื่อเรียกขอความช่วยเหลือได้
ซึ่งในที่สุดผมก็เคยได้ใช้ประโยชน์จากโหมดนี้เมื่อเดือน มี.ค. 2554
(วันหลังจะเล่าให้ฟัง)

ในภาพนี้จะเห็นอีกว่าผมใส่เสื้อซ้อนกัน 4 ชั้น ... อากาศตอนกลางคืนที่นี่หนาวจริงๆๆๆ
เสร็จสิ้นการเดิน East Cold Spring Trail แล้ว ผมก็กลับบ้านวิเคราะห์เส้นทางที่เดินร่วมกับลุงจอห์น (ครูสอนเดินป่าของผม และเป็นเจ้าของบ้านที่ผมเช่าอยู่ด้วย) ก่อนจะนอนหลับอย่างสบายใจ

วิเคราะห์ตำแหน่งทางแยกจากทางหลักขึ้นไปยัง Montecito Peak ด้วยโปรแกรมของ DeLorme บนคอมพิวเตอร์ลุงจอห์น
เส้นสีชมพูคือทาง (track) ที่บันทึกโดย GPS
แม้ว่าการเดินทางในวันนี้จะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่การเดินทางของชีวิตนักเดินป่ามือใหม่อย่างผมยังไม่มีวันจบสิ้น ในวันหลัง (เมื่อไหร่ไม่รู้) ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าถัดจากจุดสูงสุด (จุดเหนือสุด) ของ trail นี้ขึ้นไปมีอะไรให้ชมกันบ้าง วันนี้แอบบอกได้เพียงคร่าวๆ ว่ามีน้ำตก มีทุ่งหญ้า มีแคมป์กราวด์​ มีสุสานหอย มีเขื่อนโบราณ และมีบ่อน้ำพุร้อน การจะไปถึงที่เหล่านั้นได้จะทำได้โดยการเดินเท้าหรือโรยตัวลงจากเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น เท่าที่ผมคำนวณดู รองเท้าบูตดีๆ สักคู่ น่าจะราคาถูกกว่าค่าเช่าเฮลิคอปเตอร์หลายเท่าตัว

วันหลังผมจะซื้อรองเท้าบูตดีๆ คู่นั้น แล้วจะเล่าให้ท่านฟังว่ามันพาผมไปไหนมาได้บ้าง

---
ผู้อ่านท่านใดพบคำที่พิมพ์ผิดหรือข้อมูลผิด กรุณาคอมเมนต์ด้วยจะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Night Hike at Cold Spring Trail



เมื่อเดือน ก.ค. 2553 ผมได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรม Friday night hike กับชาว Sierra Club ใน Santa Barbara. ซึ่งทุกวันศุกร์เวลาหกโมงเย็นเขาจะนัดพบกันที่ Santa Barbara Mission
Santa Barbara Mission เป็นวัดเก่าแก่อายุเกิน 220 ปีแล้ว ปัจจุบันข้างในเป็นพิพิธภัณฑ์​ สวนดอกไม้ และสุสาน และยังคงมีการประกอบพิธีทางศาสนา ในบางครั้งก็เป็นสถานที่แสดงงานศิลปะ ดนตรี หรืองานนัดพบอาสาสมัครงานเพื่อสังคมต่างๆ ในวันนี้ผมมาที่นี่เพราะเป็นจุดนัดพบของชาว Sierra Club ก่อนจะไปเดินตะลุยแสงจันทร์


ภาพนี้ถ่ายในช่วงที่ผมยังไม่คุ้นเคยกับ Nikon D90 ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ทุกอย่างเป็น auto ไม่ได้คิดอะไรมากเมื่อถ่าย คิดแต่ว่าอยากได้เส้นนำสายตาไปสู่ตัวอาคารเท่านั้น ปรากฎกว่าดันได้ลูกศรนี้ซึ่งนำสายตาออกจากอาคารเสียแทน ดูแปลกตาดีเหมือนกัน

ถ้าใครคิดว่าการเดินป่าตอนกลางคืนนั้นเป็นกิจกรรมของหนุ่มสาวไร้สติบ้าพลัง หรือว่าเป็นกิจกรรมของคนแก่เบื่อโลกว่างงานมาก ก็จงปรับทัศนคติเสียใหม่ ชมรม Sierra Club มีคนมากมายหลายรุ่นหลายวัย (แต่สีผิวยังไม่ค่อยหลากหลายเท่าไหร่ -- ส่วนใหญ่เป็นคนขาว) มาเดินป่าด้วยกันด้วยจิตใจที่รักธรรมชาติ ความจริงแล้วกิจกรรมเหล่านี้เปิดกว้างสำหรับสาธารณชน ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกชมรมก็มาเดินเที่ยวด้วยกันได้ โดยทุกกิจกรรมจะมีผู้นำ (hike leader) ผู้ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบมาแล้ว

คุณน้าใจดีในภาพคือผู้นำของเราในค่ำคืนนี้ (ขอโทษด้วยที่ผมลืมชื่อ)


ภาพนี้ตอนถ่ายไม่ได้คิดอะไร แต่หลังจากนั้นถึงได้เรียนรู้ว่ามุมแสงแบบที่เห็นนี้พวกมืออาชีพเขาเรียกว่า rim lighting เป็นแสงที่ทำให้ถ่ายภาพคนได้สวยมากเพราะแสงจะช่วยตัดเส้นขอบของร่างกาย และช่วยทำให้เส้นผมสะท้อนแสงเปล่งประกายสวยงาม ถ้านี่เป็นการจัดฉาก ก็ควรจะมีคนถือแผ่นสะท้อนแสง (reflector) ทางขวามือเพื่ออัดแสงเข้าไปในหน้าคุณน้าอีกสักหน่อย ภาพจะงดงามมีมิติมากๆ

วันนี้เขาตัดสินใจกันว่าจะไป hike กันที่ East Fork Cold Spring Trail คือว่า Cold Spring นี้เป็นชื่อของธารน้ำ (creek) ที่ไหลลงมาจากภูเขา และธารน้ำนี้ก็มีหลายแขนง (fork) วันนี้เราจะไปเดินทางแขนงฝั่งตะวันออก. เนื่องจากเดือน ก.ค. เป็นช่วงฤดูร้อน พระอาทิตย์ตกช้ามาก night hike วันนี้ก็เลยไม่ night สักเท่าไหร่ ยังคงมีแสงสวยๆ ของดวงตะวันที่ใกล้จะตกทะเลให้เราได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติได้ ความจริงแล้วนักถ่ายภาพธรรมชาติเขาบอกว่าช่วงเวลาใกล้พระอาทิตย์ตกดินนี่แหละที่เป็น golden hours, เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพ เพราะแสงจะนุ่มนวลและมีทิศทาง (ฯลฯ เหตุผลมีอีกมาก)

ทางเดินขึ้นมีภูเขาอยู่ทางขวา และธารน้ำอยู่ในเหวทางซ้าย เมื่อเดินไปสักพักทางก็จะตัดกับธารน้ำ

 ผมเดินเกาะกับกลุ่มหลังสุด เดินช้าที่สุดเพราะมัวแต่ถ่ายรูป เมื่อเดินขึ้นไปถึงทางแยกหนึ่งก็พบว่าพวกกลุ่มข้างหน้าเขากำลังเดินลงมาแล้ว แต่เรายังขึ้นไปไม่ถึง "จุดชมวิว"​ ที่เรียกว่า Montecito Outlook เลย ไม่เป็นไร ผมเคยไปมาแล้ว (วันหลังจะเอาภาพมาให้ชม) ผมเดินกลับลงมาพร้อมกับกลุ่มหน้า โดยใช้ทางลัดตัดออกไปอีกด้านหนึ่งของภูเขา พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะวิวขาลงในสภาพแสงขณะนี้วิจิตรงดงามเป็นยิ่งนัก ผมนึกในใจ "เราถ่ายอย่างไรก็ไม่สวยเท่ากับครึ่งหนึ่งของของจริง แต่ก็เอาวะ ลองดู"

มองลงมาเห็นคฤหาสน์หลังหนึ่งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ชายเขา. มองไกลออกไปนิดก็เป็นเมืองเศรษฐี Montecito ซึ่งเป็นขอบตะวันออกของ Santa Barbara. มองไกลออกไปหน่อยก็คือชายหาดและท้องฟ้าที่มี afterlight สีสันสวยงามเช่นนี้ทุกวัน

ในระหว่างที่เดินลงผมเห็นว่าภาพเนินเขาและแหลมแผ่นดินที่ยื่นเข้าไปในทะเลนั้นสวยงามมาก (เมื่อมองด้วยตา)​ แต่ถ้ายื่นกล้องไปถ่ายซะดื้อๆ ก็คงดูรกๆ ไม่ต่างอะไรจากภาพอื่นอีกเป็นร้อยภาพ จึงแก้ความรกด้วยการนำ boring foreground object เข้ามาช่วย ให้มันโฟกัสไปที่ foreground แต่ความสวยงามของภาพที่แท้จริงอยู่ที่สีสันของ background ในวันนั้นผมยังวัดแสงไม่เป็น ทำ silhouette (ภาพเงาดำย้อนแสงแบบที่เห็นอยู่นี้) ก็ไม่เป็น ก็เลยใช้ตัวช่วย ถ่ายแบบ auto-bracket ไปซะเลยสามภาพ แล้วมาเลือกทีหลัง ปรากฎว่าภาพแรกนั่นแหละที่สวยที่สุด (Nikon นี่มันดีจริงๆ)
ภาพนี้ผมใช้เป็น desktop background บน macbook pro มาจนถึงทุกวันนี้ (ทั้งที่ผมมีภาพที่สวยกว่านี้) ผมชอบที่มันดูเรียบง่ายไม่รบกวนสายตา ในขณะเดียวกันเจ้าดอกหญ้าแนวตั้งนั้นก็ยังใช้ประโยชน์ในการช่วยจัดระเบียบ icons ได้ด้วย
เมื่อกี้ใช้คำว่า auto-bracket ไปโดยที่ยังไม่ได้นิยาม ความหมายของคำนี้ก็คือการสั่งให้กล้องทำการถ่ายภาพรัวให้เราหลายๆ ครั้ง โดยที่แต่ละครั้งให้เปลี่ยนแปลงปริมาณแสงโดยอัตโนมัติ โดยจะถ่ายกี่ภาพหรือว่าให้ความแตกต่างของแสงเป็นเท่าไหร่ก็แล้วแต่เราและแล้วแต่ฟังก์ชั่นของกล้อง ผมเลือกที่จะถ่ายสามภาพ ภาพแรกธรรมดา ภาพที่สองมืด และภาพที่สามสว่าง ช่างภาพมืออาชีพบางคนเขาทำแบบนี้เป็นอาจิณด้วยถือคติว่าเมมโมรี่นั้นราคาถูก ถ่ายแบบนี้จะได้สามารถแน่ใจได้ว่าภาพที่ออกมาจะไม่สว่างเกินหรือมืดเกินไป แต่ช่างภาพมืออาชีพบางคน (โดยเฉพาะที่อีโก้สูงๆ) จะเหยียดหยามเทคนิคแบบนี้มากเพราะท่านว่าเป็นการหว่านแหอย่างไร้ศิลปะ (ในมุมมองของเขา) ตัวผมเองยังไร้อุดมการณ์ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าเห็นว่าน่าลองก็จะเอามาลองใช้ดู

ประโยชน์อย่างหนึ่งของระบบ auto-bracket นั้นก็คือการถ่ายภาพแบบ HDR (high dynamic range) ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นภาพผลลัพท์ที่มีรายละเอียดของภาพครบทุกส่วนทั้งส่วนที่สว่างจ้าและส่วนที่เป็นเงามืด พูดง่ายๆ การทำ HDR ก็คือการนำภาพสองสามภาพมารวมกัน แต่ละภาพอาจจะมืด/สว่างไม่เท่ากัน ระบบ HDR (อัตโนมัติบ้าง อัตโนมือบ้าง) ก็จะเลือกบริเวณต่างๆ จากภาพที่มีรายละเอียดเหมาะสมที่สุด วิธีนี้ถ้ารู้จักใช้จะทำให้ได้ภาพที่ดูงดงามแปลกตา ถ้าไม่ค่อยรู้จักใช้ก็จะได้ภาพที่ดูแปลกตาอย่างเดียว (แต่ไม่งดงาม ฮาาา)

นี่เป็นภาพ HDR ภาพแรกของผม ไม่รู้สึกว่าสวยงามแต่ดูแล้วแปลกตา ภาพนี้เกิดจากการซ้อนภาพสามภาพเข้าด้วยกันโดยโปรแกรม Enfuse ภาพสามภาพนั้นถ่ายโดยการนั่งลงกับพื้น จัดมือให้นิ่ง กลั้นหายใจ แล้วรัวชัตเตอร์ด้วยระบบ auto-bracket
ส่วนตัวผมหลังจากได้ลอง HDR แล้วรู้สึกไม่ชอบเลย ส่วนหนึ่งไม่ชอบเพราะว่ามันเป็นกระบวนการที่ช้ามากๆ (แรมหมด) อีกส่วนหนึ่งไม่ชอบผลลัพธ์ที่ตัวเองได้ ภาพส่วนใหญ่ออกมาแล้วสีผิดเพี้นเละเทะไปหมด คงต้องศึกษาอีกมากกว่าจะทำให้ออกมาสวยงามได้อย่างมืออาชีพ ดูตัวอย่างผลงานมืออาชีพได้ที่ อาจารย์ Trey Ratcliff www.stuckincustoms.com/hdr-tutorial/ และที่ ปรมาจารย์ Darrell Gulin (คนนี้ผมเคยพบตัวจริง ประทับใจมาก วันหลังจะมาเล่าให้ฟัง (ถ้าผมลืม เตือนผมด้วย))

เวลาล่วงไปสองทุ่มกว่าๆ แล้ว แต่ท้องฟ้าก็ยังมีแสงสว่าง ในช่วงที่เดินอยู่ในหุบเขาจะรู้สึกว่ามืดมาก แต่พอเดินออกมาฝั่งทิศใต้ของภูเขาก็พบว่าฟ้ายังสว่างอยู่ แถมสีสันก็สวยงาม อย่างที่บอกว่าแสงแบบนี้เรียกว่า afterlight (มันจะโผล่มาหลังจาก twilight) ซึ่งเคยได้ยินมาว่าบริเวณที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากก็จะมีช่วงเวลานี้ยาวนานมาก นั่นคือ พอพระอาทิตย์ตกแล้วจะยังไม่มืดทันที จะมีแสงสีให้เห็นแล้วค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรช่วงเวลานี้จะสั้นมาก นั่นคือ พอพระอาทิตย์ตกปุ๊บ ก็มืดปั๊บเลย

นกสองตัวกำลังบินกลับรัง (พิกเซลเล็กๆ ด้านบนขวา) ต้นไม้กำลังยืนโน้มเอียงอย่างกับรู้ว่าตัวเองอยู่บนเนินเขา
คืนนั้นหลังจาก hike เสร็จ พวกเรา 20 กว่าคน ก็ carpool กันกลับไปที่จุดนัดพบ แล้วมุ่งหน้าไปทานอาหารค่ำร่วมกันที่ร้านพิซซ่าชื่อดังนามว่า ​Taffy's แม้ว่าผมจะเกลียดพิซซ่าแต่ผมก็ไปร่วมวงกับเขาด้วยเพราะว่าผู้คนที่นี่ล้วนคุยกันถูกคอ แล้วผมก็ค้นพบว่า chicken wings ร้านนี้อร่อยมากจริงๆ

Sierra Club จัดกิจกรรมเดินป่าเช่นนี้สัปดาห์ละหลายคร้ง ทุกค่ำวันศุกร์จะมีการเดินป่ากลางคืนระยะสั้นอย่างที่เห็น ทุกค่ำวันพุธจะมีการเดินป่ากลางคืนระยะยาว (คือ.. ทางโหด ถ้าไม่อึดจริงอย่าไป (ผมไม่เคยไป)) และทุกวันเสาร์-อาทิตย์จะมีการพาไปเดินตาม trail ต่างๆ ความยากง่ายแตกต่างกัน มีการประกาศกำหนดการล่วงหน้าเป็นเดือนๆ เพื่อให้สาธุชนได้วางแผนและมีโอกาสโทรสอบถามข้อมูลกับ hike leader ได้ ไม่ว่าคุณเป็นใครคุณก็สามารถมาร่วมกับเขาได้ฟรีๆ ไม่มีการเรี่ยไรเงินบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการยัดเยียดคำสอนศาสนาใดๆ และที่สำคัญ ไม่แม้แต่จะมาพร่ำบอกให้คุณต้องรักธรรมชาติ เพราะเขาเชื่อว่าหากแม้นผู้คนได้มาสัมผัสธรรมชาติด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยเท้าของตัวเองแล้ว ผู้คนจะต้องตกหลุมรักและอยากจะทะนุถนอมความงดงามนี้ไว้ไม่ให้ใครมาทำลาย โดยที่เราไม่จำเป็นต้องพูดจูงใจอะไรเขาเลย